หลังจากฉลองการกลับสู่วิถีชีวิตปกติด้วยการยกเลิกการสวมหน้ากากและกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมได้เพียง 4 สัปดาห์ เวลานี้การระบาดระลอกใหม่จากสายพันธุ์เดลตา ทำให้อิสราเอลต้องปรับแผนรับมืออีกครั้ง โดยคราวนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ที่อิงกับแนวทางการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งบางคนเห็นว่า เป็นทางสายกลางระหว่างการยกเลิกมาตรการจำกัดแบบอังกฤษกับการยกระดับการควบคุมเข้มข้นขึ้นแบบออสเตรเลีย ขณะที่บางคนกังวลว่า การลดการ์ดเช่นนี้อาจทำให้เกิดความผิดพลาดที่อิสราเอลต้องจ่ายแพง

ภายใต้แผนการที่นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเน็ตต์ บอกว่าเป็น “การจำกัดเข้มงวดแบบอ่อนๆ” รัฐบาลเรียกร้องต้องการให้ประชาชนซึ่งผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันในอัตราสูงมากแล้ว เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนา โดยจะนำเอาพวกมาตรการจำกัดเข้มงวดทั้งหลายมาใช้กันให้น้อยที่สุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบที่ 4 ที่จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ

จากการที่ชาวอิสราเอลกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว เบนเน็ตตั้งความหวังว่า ถึงแม้อัตราการติดเชื้อจะพุ่งขึ้นอีก แต่จำนวนผู้ป่วยหนักน่าจะลดลง

ผู้นำอิสราเอลกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้มีความเสี่ยงบางอย่างบางประการ แต่เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมซึ่งก็ครอบคลุมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ถือเป็นแนวทางที่สมดุลและจำเป็น

ตัวชี้วัดหลักคือจำนวนผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลของอิสราเอล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 45 คน โดยที่การดำเนินการยุทธศาสตร์นี้ประกอบด้วยการติดตามสถานการณ์การติดเชื้อ, การส่งเสริมการฉีดวัคซีน, การมีชุดทดสอบที่ใช้ง่ายและรวดเร็ว, และการเผยแพร่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสวมหน้ากาก

ยุทธศาสตร์นี้ของอิสราเอลถูกนำไปเปรียบเทียบกับแผนการของอังกฤษที่เตรียมปลดล็อกเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นการดำเนินการบางส่วนในทิศทางตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ อิสราเอลนั้นอยู่ในขั้นตอนที่จะฟื้นการใช้มาตรการจำกัดเข้มงวดบางอย่าง ขณะที่ลอนดอนกลับกำลังพยายามจะยกเลิกมาตรการจำกัดทั้งหลายทั้งปวง

มาตรการจำกัดที่อิสราเอลนำบังคับใช้อีกครั้งมีอาทิ การบังคับสวมหน้ากากภายในอาคาร และการกักตัวนักเดินทางจากต่างประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์นี้ของเบนเน็ตมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน

ชารอน อัลรอย-เพรส ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข กระทรวงสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนการยกระดับการจำกัดเข้มงวดเพื่อสกัดการระบาด กล่าวว่า เป็นไปได้ว่า จำนวนผู้ป่วยหนักอาจไม่พุ่งทะยาน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ราคาที่ต้องจ่ายหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา

ทว่า นาดาฟ ดาวิโดวิตช์ ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเบน กูเรียนของอิสราเอล ยกย่องว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเป็นทางสายกลางระหว่างการยกเลิกข้อจำกัดแบบอังกฤษ กับการกลับไปใช้มาตรการเข้มงวดแบบออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่อิสราเอลล็อกดาวน์คือเดือนธันวาคม หรือราวหนึ่งสัปดาห์หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่เร็วที่สุดของโลก

ปัจจุบันอิสราเอลพบเคสใหม่วันละราว 450 คน โดย 90% ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย

แนชแมน แอช อธิบดีของกระทรวงสุขภาพ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่คิดว่า จะมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากๆ เหมือนการระบาดก่อนหน้านี้ แต่ถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นและเป็นอันตรายต่อระบบสาธารณสุข รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการขั้นต่อไป

ขณะนี้ ชาวอิสราเอลราว 60% จากทั้งหมด 9.3 ล้านคน ฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

แรน บาลิเซอร์ ประธานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 เผยว่า สัปดาห์ที่แล้ว อิสราเอลมีผู้ป่วยหนักเฉลี่ยวันละ 5 คนและเสียชีวิต 1 คน หลังจากไม่มีผู้เสียชีวิตเลยตลอด 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น และเสริมว่า คณะกรรมการแนะนำให้พิจารณาอย่างรอบคอบในการยกเลิกข้อจำกัด เนื่องจากขณะนี้สายพันธุ์เดลตากำลังระบาด และอิสราเอลยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจากการระบาดในท้องถิ่นที่จะทำนายอย่างแม่นยำว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลผ่อนคลายกฎ

นอกจากนั้น ผลศึกษาบางชิ้นพบว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และขณะนี้ ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคเตรียมขอให้ผู้คุมกฎของอเมริกาและยุโรปอนุมัติการฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือ “เข็มที่ 3” เพื่อรับมือความเสี่ยงติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลังฉีดวัคซีนแล้ว 6 เดือน

อย่างไรก็ดี อิสราเอลระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปในขณะนี้ แต่ก็ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นกรณีไปเท่านั้น รวมทั้งกำลังพิจารณาอนุญาตให้ฉีดวัคซีนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มีปัญหาสุขภาพและมีความเสี่ยงสูงจากอาการแทรกซ้อนรุนแรงหากติดโควิด

แอชทิ้งท้ายว่า มีประชาชนเพียงไม่กี่ร้อยคนจาก 5.5 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนแล้วและติดโควิด

ก่อนที่เดลตาจะเข้าไประบาดในอิสราเอล ทางการคาดว่า จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชน 75% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ตัวเลขขณะนี้ปรับเพิ่มเป็น 80% ตอกย้ำความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์

กระนั้น นพ. เกดี้ ซีกัล ผู้อำนวยการแผนกไวรัสโคโรนาของศูนย์การแพทย์ชีบาใกล้เทลอาวีฟ เชื่อว่า แม้ไวรัสโคโรนามีวิวัฒนาการไม่หยุดยั้ง แต่ธรรมชาติของมนุษย์คือการเอาตัวรอด