การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้นทำให้หลายประเทศเริ่มพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนเพื่อฟื้นพลิกเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงอนุญาตให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงสภาวะปกติ หลังจากที่ต้องอดทนกับการ “ล็อกดาวน์” ครั้งแล้วครั้งเล่ามานานกว่า 1 ปี ขณะที่บางชาติเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ประชาชน ท่ามกลางแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” ที่ติดต่อได้ง่าย และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในอีกไม่ช้า
อังกฤษเป็นชาติมหาอำนาจรายแรกๆ ที่ประกาศแผนเลิกล็อกดาวน์ประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ประกาศเมื่อวันจันทร์ (5 ก.ค.) ว่ารัฐบาลของเขามีแผนจะเลิกบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งรวมถึงการเลิกบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะ และลดการเว้นระยะห่างทางสังคมจากเดิม 2 เมตรเหลือเพียง 1 เมตร
มาตรการคลายล็อกนี้ยังรวมถึงการเลิกจำกัดจำนวนคนในสถานที่หรือพิธีการต่างๆ เช่น งานแต่งงานหรืองานศพ, ยกเลิกข้อแนะนำให้ทำงานที่บ้าน และให้ธุรกิจทุกประเภทรวมถึงไนท์คลับกลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ
ก่อนหน้านี้ จอห์นสัน จำเป็นต้องเลื่อนแผนการเปิดประเทศในวันที่ 21 มิ.ย. มาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่เวลานี้เคสผู้ป่วยใหม่ในอังกฤษเกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้แทบทั้งหมด
เมื่อวันอังคาร (6) อังกฤษพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่สูงถึง 28,773 ราย เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 27,334 รายในวันจันทร์ (5) และถือเป็นตัวเลขผู้ป่วยรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.
ผู้นำอังกฤษยอมรับว่า โรคระบาดครั้งนี้ “จะยังไม่จบง่ายๆ” และจำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะเพิ่มถึงหลัก 50,000 คนต่อวันภายในวันที่ 19 ก.ค. แต่ด้วยการฉีดระดมฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางทำให้เขาเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตจะมีไม่มากนัก
ทั้งนี้ ประกาศของ จอห์นสัน จะมีผลบังคับแต่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น เนื่องจากสกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ต่างมีอำนาจที่จะกำหนดมาตรการควบคุมโรคของตนเอง
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. พบว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ในอังกฤษฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกแล้วประมาณ 86% และ 63% ได้รับครบทั้ง 2 โดส
คริส วิตตีย์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่แพทย์ของอังกฤษ ออกมาเตือนว่า สำหรับตัวเขาเองยังคงเลือกที่จะสวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน หรืออยู่ในสถานที่ที่มีคนเยอะ ขณะที่ผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายค้าน เคียร์ สตาร์เมอร์ วิจารณ์แผนเปิดประเทศของ จอห์นสัน ว่า “ขาดความยั้งคิด” และเท่ากับ “โยนมาตรการปกป้องทั้งหมดทิ้งไป” ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ผลสำรวจโดย YouGov พบว่าชาวอังกฤษ 71% ยังเชื่อว่าการสวมหน้ากากขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่
ทางด้านสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เปิดประตูทำเนียบขาวจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐฯ อย่างเอิกเกริกเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้นในทำเนียบขาวนับตั้งแต่ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ม.ค.
ภายในงานซึ่งจัดขึ้นที่สนามหญ้าด้านทิศใต้ของทำเนียบขาว แขกที่มางานต่างถอดหน้ากากรับประทานแตงโมและดื่มเบียร์กันอย่างครึกครื้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงชาวอเมริกันว่าประเทศกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง โดย ไบเดน ได้กล่าวกับแขกในงานว่า ไวรัสโคโรนา “ไม่ทำให้ประเทศชาติของเราหยุดนิ่งอีกต่อไปแล้ว และเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเช่นนั้นขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่าโควิด-19 ยังไม่ถูกกำจัดหมดสิ้นไป และเวลานี้มีสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดลุกลามในหลายประเทศ รวมถึงในสหรัฐฯ เอง ซึ่งทำให้การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยิ่งมีความจำเป็น
“มันคือสิ่งที่แสดงถึงความรักชาติมากที่สุดที่พวกคุณจะทำได้” ไบเดน กล่าว
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 331 ล้านโดส โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการฉีดโดยเฉลี่ย 865,929 โดสต่อวัน ซึ่งหากคงระดับการฉีดเช่นนี้ต่อไปก็คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือนจึงจะสามารถฉีดได้ครอบคลุมประชากร 75%
สหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางสำหรับชาวต่างชาติเมื่อใด แต่มีคำยืนยันจากทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่า คงไม่ถึงขั้นกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศต้องผ่านการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น
รัฐนิวยอร์กประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้มเกือบทั้งหมดตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ส่วนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา, อิลลินอยส์, นิวเจอร์ซีย์ และคอนเน็ตทิคัต ก็ยกเลิกมาตรการฉุกเฉินที่เคยประกาศใช้เพื่อควบคุมโควิด-19 แล้วเช่นกัน
รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดทางสังคม โดยยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากในที่แจ้งตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศยามค่ำคืนก็สิ้นสุดลงไปตั้งแต่ 20 มิ.ย. ขณะที่ไนต์คลับต่างๆ เตรียมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ค. นี้
เยอรมนีประกาศจะยกเลิกข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งหมดหลังจากที่ประชากรทุกคนได้รับวัคซีน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ส.ค.
ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้เดินทางทั่วไปสามารถผ่านเข้าพรมแดนเยอรมนีได้โดยไม่ต้องกักตัว เว้นแต่จะเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง ส่วนข้อบังคับที่ให้บริษัทต่างๆ ต้องอนุญาตพนักงานทำงานจากที่บ้านก็สิ้นสุดลงไปตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.
สถาบันโรเบิร์ตค็อก (RKI) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและควบคุมโรคของเยอรมนี ระบุว่า มีประชากรเยอรมันฉีดวัคซีนครบแล้วประมาณ 32.4 ล้านคนจนถึงวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ค. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 38.9%
ในฝั่งอาเซียน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเมื่อวันพุธ (7) ว่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป หนึ่งในนั้นรวมถึงการอนุญาตนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้สูงสุด 5 คน และจะอนุญาตจัดกิจกรรมรวมคน การแสดงดนตรีสด การแข่งกีฬา งานแต่งงาน รวมถึงกิจกรรมทางศาสนาสำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วในช่วงปลายเดือนนี้
สิงคโปร์เริ่มจัดทำโรดแมปเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 เนื่องจากคาดว่าโรคนี้จะกลายเป็น “โรคประถิ่น” ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่
เวลานี้มีประชากรสิงคโปร์ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นาแล้วประมาณครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 5.7 ล้านคน โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรถึง 75% ภายในวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันชาติสิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีแผนจะเลิกนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ป่วยที่อาการหนัก ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรงสามารถพักฟื้นเองที่บ้าน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาก็เริ่มสำแดงพิษสงจนทำให้บางประเทศต้องหวนกลับไปใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมอีกครั้ง ตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ซึ่งกลับมามีผู้ติดเชื้อรายวันแตะระดับ 1,200 คนในวันพุธ (7) และรัฐบาลออกมาเตือนว่าหากภายใน 2-3 วันยอดผู้ป่วยใหม่ยังไม่ลดลง อาจจะต้องฟื้นข้อจำกัดทางสังคมกันใหม่
เกาหลีใต้อนุญาตให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในที่แจ้งตั้งแต่เดือน ก.ค. และตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. ก็อนุญาตจัดคอนเสิร์ตที่มีผู้เข้าชมสูงสุดไม่เกิน 4,000 คน ส่วนสนามกีฬาต่างๆ สามารถมีผู้เข้าชมได้ระหว่าง 30-50% ของความจุ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
อิสราเอลกลับมาบังคับใช้กฎสวมหน้ากากภายในอาคารอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. หลังจากที่ยกเลิกไปได้เพียง 10 วัน เนื่องจากพบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคลดลงอย่างมากในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว
รัฐบาลอังกฤษมีแผนเริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นโดสที่ 3 ให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบางในช่วงเดือน ก.ย. นี้ ขณะที่ผลวิจัยซึ่งใช้ชื่อว่า ‘The Com-Cov’ ซึ่งมุ่งศึกษาผลลัพธ์ของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส หรือฉีดทั้ง 2 ชนิดสลับก่อนหลัง พบว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ต่างชนิดกันช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้สูงที่สุด
งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 โดสจะมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอีก หากได้รับการฉีดกระตุ้นโดสที่ 3 ด้วยวัคซีนชนิดอื่น
โจนาธาน แวน-แทม รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ ระบุว่าในขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่อังกฤษจะต้องเปลี่ยนแนวทางจากการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและสามารถปกป้องชีวิตผู้คนได้ แต่ในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการกระจายวัคซีน และสนับสนุนประเทศอื่นๆ ที่ยังฉีดวัคซีนได้ล่าช้าหรือประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน
คณะกรรมการวัคซีนของเยอรมนี (STIKO) ได้ออกคำแนะนำเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก ควรเลือกฉีดวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นเข็มที่ 2 ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม ซึ่งจากคำแนะนำดังกล่าวทำให้เยอรมนีกลายเป็นชาติแรกในโลกที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าควรต่อเข็มถัดไปด้วยวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค หรือไม่ก็โมเดอร์นา ขณะที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ก็สนับสนุนแนวทางนี้ด้วยการฉีดโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 2 เมื่อเดือน มิ.ย.
เยอรมนีและสเปนแนะนำให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก เปลี่ยนไปรับวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 2
ตุรกีเป็นอีกประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี โดยสาเหตุที่ต้องฉีดกระตุ้นให้แก่ประชากรทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็เนื่องจากว่าบางรายเคยได้รับแต่วัคซีนของ “ซิโนแวค” เท่านั้น แต่ปัจจุบันตุรกีมีวัคซีนของไฟเซอร์ใช้งานด้วยอีกชนิดหนึ่ง
ก่อนหน้านั้น บาห์เรนได้สลับไปใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสที่ 3 สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ของจีนไปใน 2 โดสแรก ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เริ่มให้วัคซีนซิโนฟาร์มเป็นโดสที่ 3 เนื่องจากแพทย์พบว่าวัคซีนสัญชาติจีนตัวนี้ไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้มากพอในบางกรณี
สำหรับไทยและอินโดนีเซียซึ่งที่ผ่านมาใช้วัคซีนซิโนแวคของจีนเป็นหลักก็เริ่มมองหาวัคซีนทางเลือกอื่นๆ และเตรียมฉีดกระตุ้นโดสที่ 3 เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากเชื้อโควิดกลายพันธุ์ โดยคณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดสเพื่อใช้เป็นวัคซีนหลัก โดยจะนำมาฉีดให้ประชาชนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วน “โมเดอร์นา” สั่งเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก และเอกชนต้องจ่ายเอง 100 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนแล้วกับทั้งแอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, โนวาแว็กซ์ รวมถึงซิโนแวค ทว่าในปัจจุบันยังมีเพียงวัคซีนของซิโนแวคใช้เป็นหลัก ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าระบุแล้วว่าจะสามารถส่งวัคซีนให้กับแดนอิเหนาได้เพียง 20 ล้านโดส จากที่เคยรับปากส่งมอบ 50 ล้านโดสภายในปีนี้
สถานการณ์ที่อินโดนีเซียเริ่มเข้าขั้นวิกฤต โดยในวันพุธ (7) รัฐบาลอินโดนีเซียได้สั่งขยายมาตรการคุมเข้มทางสังคมในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ ตั้งแต่เกาะสุมาตราทางตะวันตกเรื่อยไปจนถึงจังหวัดปาปัวทางตะวันออก หลังจากที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งระบาดบนเกาะชวาเริ่มแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ทั่วแดนอิเหนาเมื่อวันอังคาร (6) พุ่งสูงถึง 31,189 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 728 คน หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่าจากตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันเมื่อไม่ถึง 1 เดือนก่อน